ReadyPlanet.com
dot dot




วิกลจริต (Psychosis)

วิกลจริต

 


 

 

แค่ไหนถึงเรียกว่า วิกลจริต? 
                วิกลจริต (โรคจิต) คือ ภาวะผิดปกติทางจิตที่มีความผิดปกติของความคิด อารมณ์ พฤติกรรมอย่างมากจนไม่อยู่ในโลกของความเป็นจริง เช่น คนบางคนอาจจะมีอาการของ
                -      ความคิดหลงผิด (ระแวงถูกสะกดรอยตาม, ถูกทำร้าย, ถูกนินทา, ถูกควบคุมโดยอำนาจไสยศาสตร์หรือไมโครชิพ)
                -      ประสาทหลอน (ได้ยินหูแว่วเสียงคนพูดถึงตนเอง, ภาพหลอน)
                -      พฤติกรรมแปลกผิดประหลาดจากปกติ (วุ่นวายมาก, ทำท่าแปลกๆ)
                -      พูดจาผิดปกติ (พูดฟังไม่รู้เรื่อง, ไม่ปะติดปะต่อ, ใช้ภาษาแปลก ๆ)
                -      เฉื่อยชา อยู่เฉยๆนิ่งๆ เก็บตัว ไม่สนใจสังคม ไม่ดูแลตนเอง ดูเหมือนคนขี้เกียจ
 
ทำไมคนเราถึงวิกลจริตได้?
                มีหลาย ๆ ปัจจัยที่น่าจะเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะวิกลจริต ซึ่งยังบอกได้ไม่แน่นอน เชื่อว่า น่าจะมีปัจจัยเกี่ยวข้องจากความผิดปกติของเนื้อสมอง,การทำงานของสมอง และสารสื่อประสาทต่าง ๆ ในสมอง รวมถึงพันธุกรรม ร่วมกับปัจจัยด้านจิตใจ เช่น ความขัดแย้งในจิตใจ และกลไกทางจิตที่ใช้ ซึ่งผู้ป่วยมักมีหลายปัจจัยร่วมกันในการเกิดปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ ยังอาจเกี่ยวข้องจากปัญหาโรคทางกาย   เช่น โรคทางสมองบางชนิด เช่น เนื้องอกในสมอง ลมชัก หรือจากยาหรือสารเสพติดบางชนิด เช่น แอมเฟตามีน จะกระตุ้นให้เกิดอาการวิกลจริตได้ แต่ภาวะวิกลจริตที่เกิดจากโรคทางกายหรือยาหรือสารเสพติดมักจะดีขึ้น เมื่อรักษาโรคทางกายต้นเหตุหรือหยุดการใช้ยา และสารเสพติด
 
อาการของวิกลจริตจะเป็นอย่างไร?
                โดยทั่วไป ผู้ป่วยจะไม่คิดและไม่เชื่อว่าตนเองผิดปกติไป เมื่อผู้ป่วยมีอาการของการหลงผิด ระแวง หรือประสาทหลอน ผู้ป่วยจะเชื่ออย่างจริงจังว่ามีสิ่งนั้นหรือการรับรู้พิเศษนั้น ๆ เกิดขึ้นกับตนเองจริง ๆ แม้ว่าคนใกล้ชิดจะพยายามชี้แจงว่าเป็นไปไม่ได้ ผู้ป่วยก็จะไม่เชื่อ ช่วงที่อาการไม่รุนแรงนัก ผู้ป่วยอาจพยายามปกปิดอาการและความเชื่อเพราะกลัวถูกหาว่าผิดปกติ แต่เมื่อมีอาการหนักขึ้น ผู้ป่วยจะแยกแยะความเป็นจริงไม่ได้ และแสดงอาการผิดปกติชัดเจนขึ้น
 
ถ้ามีคนที่น่าสงสัยว่าจะวิกลจริต ควรช่วยอย่างไร?
                1.      ภาวะนี้ไม่หายเอง ควรพยายามพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ หรือจิตแพทย์ให้ได้ ถ้าผู้ป่วยปฏิเสธการรักษา ญาติอาจมาปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อรับคำแนะนำล่วงหน้า ถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาโดยเร็ว จะส่งผลต่อการหายของโรคในระยะยาว การปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษา หรือรอสังเกตอาการนานเกินไป จะทำให้รักษายากขึ้น ต้องรักษาอยู่นานกว่าจะสงบ หรืออาการอาจรุนแรงจนอาจก่ออันตรายได้เพราะเมื่อคนไข้วิกลจริตแล้ว เราไม่สามารถคาดเดาความคิดหรือพฤติกรรมคนๆนั้นได้เลย
                2.     การรักษาด้วยยา มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยวิกลจริต ยาต้านโรคจิตจะช่วยให้อาการหลงผิด ระแวง และประสาทหลอนของผู้ป่วยดีขึ้น ในผู้ป่วยบางรายอาจมีผลข้างเคียงจากการใช้ยาบ้าง เช่น กล้ามเนื้อเกร็ง ตาพร่า ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับขนาดหรือชนิดของยา เพื่อให้การรักษาดำเนินต่อเนื่องได้ ซึ่งจะช่วยผู้ป่วยได้ในระยะยาว
                3.     การรักษาทางจิตสังคม : การให้คำปรึกษาแนะนำ และประคับประคองผู้ป่วยและญาติผู้ดูแลซึ่งต้องรับภาระหนัก จะช่วยให้การดูแลผู้ป่วยวิกลจริตประสบความสำเร็จมากขึ้น
                4.     รักษาต่อเนื่อง : โดยส่วนใหญ่ภาวะวิกลจริต ต้องรักษาต่อเนื่องเป็นเวลานาน ความสม่ำเสมอและความร่วมมือในการรักษาจะทำให้ผู้ป่วยดีขึ้นในระยะยาว โดยไม่มีอาการกำเริบซ้ำ หรืออาจหยุดยาได้ ถ้ากำลังรักษาอยู่ไม่ควรหยุดรักษาหรือหยุดยากะทันหัน เพราะมีโอกาสกำเริบสูงมากและการชักชวนผู้ป่วยที่อาการกำเริบให้รักษาใหม่นั้นทำได้ยาก
                5.     ในกรณีที่ผู้ป่วยเกิดอาการกำเริบรุนแรง สามารถพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ก่อนนัดได้ หรือพามาห้องฉุกเฉินนอกเวลาราชการ ซึ่งในโรงพยาบาลใหญ่หรือโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์จะมีจิตแพทย์คอยดูแลนอกเวลา

 




รอบรู้เรื่องสุขภาพจิตผู้ใหญ่

วิตกกังวล
เศร้าหลังคลอด
ถูกนอกใจ
อยากตาย
โรคแพนิค (Panic)
อารมณ์แปรปรวน
ติดบุหรี่
ติดเหล้า
ติดการพนัน



Copyright © 2011 All Rights Reserved.
Department of Psychiatry, Faculty of Medicine, Chulalongkorn University BANGKOK 10330
Tel: (662) 256-4000-61509