พฤติกรรมขนาดไหนที่ควรมองว่า ก้าวร้าว?
ก่อนจะพิจารณาว่าเด็กก้าวร้าวหรือไม่ ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนก่อนว่าคำว่า “ก้าวร้าว”ในความหมายของบิดามารดา คืออะไร เพราะบางครั้งอาจเป็นเพียงพฤติกรรมของเด็กที่ปกติ เช่น เด็กเถียง หรือ แสดงความคิดเห็น และต้องประเมินว่าความก้าวร้าวนั้นรุนแรงระดับใด เช่น ก้าวร้าวทางคำพูด หรือ ก้าวร้าวทางพฤติกรรม และความก้าวร้าวนั้นส่งผลกระทบโดยตรงกับใครบ้าง เช่น บิดามารดา หรือ บุคคลภายนอก เช่น รังแกเพื่อน หรือ เกิดความขัดแย้งกับครู ซึ่งการประเมินสิ่งต่างๆเหล่านี้จะทำให้เราเข้าใจปัญหาได้ดีขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องบรรยายลักษณะอย่างชัดเจนว่าพฤติกรรมเหล่านั้นคืออะไร เพราะนิยามของความก้าวร้าวในแต่ในบุคคลไม่เหมือนกัน
เด็กก้าวร้าวต่างกับเด็กธรรมดาที่เล่นแรงๆอย่างไร?
ในการแยกเด็กที่ก้าวร้าวออกจากเด็กที่เล่นรุนแรงตามปกตินั้น ประเด็นสำคัญคือ ควรพิจารณาว่ามีการละเมิดสิทธิผู้อื่น หรือ ละเมิดกฎเกณฑ์ทางสังคมหรือไม่ ถ้ามี ก็จำเป็นจะต้องมีการควบคุมดูแล และสอนให้ทราบว่าพฤติกรรมเหล่านั้นไม่เหมาะสมและไม่ควรกระทำ ถ้าเด็กยังกระทำจำเป็นจะต้องถูกควบคุมให้หยุด และ เรียนรู้ว่าพฤติกรรมนั้นทำไม่ได้อย่างจริงจัง
ทำไมเด็กถึงก้าวร้าว?
เด็กที่ก้าวร้าวอาจมีความเกี่ยวข้องกับโรคทางจิตเวช ซึ่งพบความก้าวร้าวร่วมด้วยได้ เช่น เด็กสมาธิสั้นอาจมีพฤติกรรมที่เล่นรุนแรงและขาดการยั้งคิด ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนได้ หรือเด็กอาจจะเป็นโรคเกเร (conduct disorder) ซึ่งมีความก้าวร้าวโดยเจตนาและตั้งใจทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือบาดเจ็บ นอกจากนี้โรคทางด้านอารมณ์อาจทำให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวได้ เช่น เด็กมีอาการซึมเศร้า ซึ่งอาการซึมเศร้าในเด็กอาจไม่ได้แสดงออกมาในลักษณะเศร้า,หดหู่ หรือเก็บตัว แต่อาจแสดงออกมาในลักษณะหงุดหงิดง่าย ขี้โมโห และระบายอารมณ์อย่างรุนแรงและส่งผลกระทบต่อผู้อื่นได้เช่นเดียวกัน
เด็กก้าวร้าวเกิดจากการเลี้ยงดูที่ไม่ดี ใช่หรือไม่?
การเลี้ยงดูของปกครองอาจมีส่วนทำให้เกิดความก้าวร้าวได้ เช่น การเลี้ยงดูที่ใช้ความรุนแรงในครอบครัว การโต้เถียงทะเลาะเบาะแว้งหรือทำร้ายร่างกายกันระหว่างผู้ปกครอง ทำให้เด็กอาจนำไปเป็นแบบอย่าง หรือ ในเด็กที่ถูกทารุณกรรม, ถูกทำร้ายร่างกาย หรือ ถูกลงโทษอย่างรุนแรง เด็กอาจจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวได้เนื่องจากหลายปัจจัย เช่น ตัวเด็กเองอาจได้รับความกระทบกระเทือนทางสมอง สมองเลยควบคุมการแสดงออกที่รุนแรงได้น้อยลง หรือ เด็กเข้าใจว่าความรุนแรงที่เด็กประสบเป็นเรื่องธรรมดา ทำให้เด็กแสดงพฤติกรรมเหล่านั้นออกมาเช่นเดียวกัน
จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า เมื่อเด็กโตขึ้นคงควบคุมตนเองได้ดีขึ้น?
ปัญหาความก้าวร้าวในเด็กเป็นปัญหาที่พบได้ในทุกช่วงทั้งเด็กเล็กเด็กโต พบว่า เด็กที่ก้าวร้าวนั้นมีอายุมากขึ้นก็อาจยิ่งแสดงพฤติกรรมที่รุนแรงมากขึ้น เช่นใช้อาวุธ หรือ รวมเป็นกลุ่มเป็นแกงค์กับเพื่อนก่อความรุนแรงที่มากขึ้น การหาสาเหตุและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ตั้งแต่ในระยะแรกจึงมีความจำเป็นมาก เพราะ ช่วยลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต และง่ายกว่ามาแก้ไขพฤติกรรมเมื่อโตเป็นวัยรุ่น หรือมีปัญหาเป็นคดีความแล้ว
จะแก้ไขปัญหาเด็กก้าวร้าวอย่างไร?
การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ผู้ปกครองต้องทำความเข้าใจที่มาของปัญหาก่อน เพราะโดยทั่วไปความก้าวร้าวในเด็ก มักเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน ควรประเมินเหตุปัจจัยรอบๆด้านว่ามีเหตุใดบ้างที่เกี่ยวข้อง การปรับการเลี้ยงดูมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง เช่น การที่ผู้ปกครองวางตัวอย่างสงบ ไม่ใช้ความรุนแรงเข้าไปเสริม ซึ่งโดยทั่วไปการลงโทษอย่างรุนแรงในเด็กที่ก้าวร้าวนั้นไม่ช่วยให้ความก้าวร้าวดีขึ้น โดยเด็กอาจหยุดแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวชั่วครู่ แต่สุดท้ายก็จะกลับมาแสดงพฤติกรรมนั้นอีก หรืออาจเรื้อรังไปจนโตเป็นผู้ใหญ่ได้ บิดามารดาควรควบคุมสถานการณ์ให้เด็กหยุดความก้าวร้าวนั้นด้วยความสงบ เช่น ใช้การกอดหรือจับให้เด็กหยุด แล้วให้เด็กสงบอารมณ์ของตนเองลง หลังจากที่เด็กสงบแล้ว ควรพูดคุยกับเด็กถึงสาเหตุที่ทำให้เด็กไม่พอใจหรือทำให้แสดงความก้าวร้าวออกมา ให้เด็กได้โอกาสระบายออกเป็นคำพูด และพ่อแม่ได้โอกาสแสดงความเข้าใจ แม้จะไม่เห้นด้วยกับพฤติกรรมนั้น
ในเด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงมาก เช่น ในวัยรุ่นที่มีอาวุธ และ บิดามารดาไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมได้ อาจต้องพึ่งพาเจ้าหน้าที่ตำรวจในการควบคุมเด็กและอาจจำเป็นต้องเข้ารับการประเมินในโรงพยาบาลเพื่อแก้ไขอาการก้าวร้าวนั้น ถ้าเป็นจากอาการป่วยทางกาย เช่นเป็นโรคทางสมอง การใช้ยาจะช่วยให้ความก้าวร้าวดีขึ้นได้อย่างมาก
|